วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก (1)

“Pyrolysis” Process จากงานวิจัยกับการพัฒนาสู่โรงงานต้นแบบ

ขยะพลาสติกวันนี้มีค่ากว่าที่คุณคิด ไม่ใช่เพียงแค่นำไปชั่งขายกิโลละไม่กี่บาท แต่สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ คิดดูสิ..! หากเป็นได้จริง นอกจากจะประหยัดเงินซื้อน้ำมันมาเติมแล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะลงได้แน่นอน นั่นหมายถึงไม่ต้องเสียเงินกำจัดขยะพวกนี้ แถมรถจะไม่ติดแหง็ก เวลาฝนตกเพราะท่อระบายน้ำกทม. ไม่ตัน เรื่องจริง แต่ที่สำคัญกว่านั้น เราและผู้รับผิดชอบมีการคัดแยกขยะดีแล้วหรือยัง???

คงไม่ต้องสาธยายถึงปัญหาขยะพลาสติกให้มาก เพราะส่งผลกระทบมากมายอย่างที่รู้ๆกัน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามักนิยมนำไปฝังกลบหรือเผาทำลาย เพราะทำง่ายแต่กลับเป็นการสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และส่งผลร้ายต่อร่างกายคนเราโดยไม่รู้ตัว แม้ปัจจุบันมีความตื่นตัวนำขยะรีไซเคิลมาใช้ซ้ำ หรือนำไปแปรรูปใหม่ แต่ด้วยคุณสมบัติของพลาสติกแต่ละชนิดก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง และเมื่อเทียบกับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มปริมาณขึ้นทุกปีแล้ว เทียบกันไม่ได้เลย

ประเทศญี่ปุ่นมีระบบคัดแยกที่มีประสิทธิภาพสูงจากถังขยะผ่านขั้นตอนการแยก และอัดให้เป็นก้อนแยกเป็น ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ซึ่งก้อนเล็กมีขนาด 0.6x0.4x0.3 เมตร และ 0.6x0.4x0.6 เมตร ส่วนก้อนใหญ่ มีขนาด 1x1x1 เมตร

ทีมวิจัยเดินทางศึกษาดูงานที่ Sapporo Plastics Recycle Co,.Ltd. ประเทศญี่ปุ่น

ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

เป็นโอกาสอันดีที่ทีมงานของเราได้พบทีมนักวิจัยไทยที่ค้นคว้าหัวข้อ "การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก" ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถนำไปต่อยอดการพัฒนาสู่การสร้างโรงงานต้นแบบในอนาคต ซึ่งไม่ไกลเกินไปโดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท Toshiba Corporation ประเทศญี่ปุ่น

วิธีการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้ว หรือขยะพลาสติกให้เป็นของเหลวเรียกว่า ลิควิแฟกชั่น (Liquefaction) เป็นวิธีไพโรไลซิส (Pyrolysis) ที่ใช้ความร้อนสูงภายใต้สุญญากาศและใช้คาตะลิสต์ เพื่อช่วยให้สารแยกตัวเป็นของเหลวได้ง่ายขึ้น นอกจากของเหลวแล้วยังเหลือกากคาร์บอนในรูปของแข็ง สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ อีกส่วนเป็นแก๊สที่เกิดขึ้นจากกระบวนการไพโรไลซิส คือ ก๊าซไฮโดรคาร์บอน ประกอบด้วย แก๊สมีเทน, อีเทน, โพรเพน, บิวเทน เป็นต้น

In Fact: WASTE
ขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบันที่นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี การกำจัดขยะพลาสติกที่ดำเนินการอยู่ได้แก่ การฝังกลบ การเผาทำลาย และการนำกลับมาใช้ใหม่ การฝังกลบเป็นวิธีที่สะดวกแต่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้พลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกชนิดพอลิเอทธิลีน (PE) พอลิพรอพิลีน (PP) พอลิสไตรีน (PS) หรือพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) เป็นพลาสติกที่ถูกย่อยสลายได้ยาก จึงทับถมอยู่ในดินและนับวันยิ่งมีปริมาณมากขึ้นตามปริมาณการใช้พลาสติกส่วนการเผาขยะพลาสติกก่อให้เกิดมลภาวะและเป็นอันตรายอย่างมาก

ขอขอบคุณ
ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด
คณะวิศวกรรมศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น